วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประวัติธงชาติไทย

ประวัติความเป็นมาของธงชาติไทย



ธง
       สยามหรือธงชาติไทยมีมาตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัด เท่าที่พบหลักฐานเชื่อกันได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะปรากฏเรื่องราวอยู่ในหนังสือจดหมายเหตุของฝรั่งเศส โดยได้กล่าวไว้ว่าเมื่อวันที่ ๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๓ เรือรบของฝรั่งเศสชื่อ เลอรโวตูร์ โดยมี มองซิเออร์ คอนูแอน เป็นนายเรือ ได้นำเรือเข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเจริญพระราชไมตรีและการค้า นายเรือได้สอบถามทางกรุงศรีอยุธยาว่า ถ้าจะยิงสลุต (ยิงปืนให้ความเคารพ) ให้แก่สยาม เมื่อเรือผ่านป้อมวิไชเยนทร์ (ปัจจุบันคือป้อมวิชัยสิทธิ์) ตามประเพณีของชาวยุโรป จะเป็นการขัดข้องหรือไม่ สมเด็จพระนารายณ์ทรงอนุญาต และรับสั่งให้เจ้าเมืองบางกอก คือ ออกพระศักดิ์สงคราม ให้ทางป้อมยิง สลุตตอบด้วย และในการที่เรือรบฝรั่งเศลได้ยิงสลุตให้นั้น ทางป้อมก็ชักธงชาติขึ้น แต่ในห้วงเวลานั้นธงชาติสยามยังไม่มี จึงได้ชักธงชาติฮอลันดาขึ้นแทน แต่ฝรั่งเศสไม่ยอมยิงสลุต เพราะเห็นว่าไม่ใช่ธงของชาติสยาม จึงแจ้งให้ทราบว่า หากสยามประสงค์จะให้ฝรั่งเศสยิงสลุตให้ ก็เอาธงฮอลันดาลงเสีย แล้วชักธงอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นแทน เผอิญในสมัยนั้นธงสีแดงถือเป็นธงที่สยามใช้สำหรับเป็นธงนำทัพอยู่แล้ว สยามจึงนำธงแดงชักขึ้น จากนั้นฝรั่งเศสจึงยิงสลุตให้ ด้วยเหตุนี้สยามจึงถือเอาธงสีแดงเป็นธงชาติสยาม







        ครั้นถึงสมัยกรุงธนบุรีและต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังคงใช้ธงสีแดงเกลี้ยงชักเป็นเครื่องหมายประจำเรือค้าขายกับต่างประเทศอยู่ ธงแดงนี้ใช้ชักขึ้นทั้งในเรือหลวงและเรือราษฎร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงมีพระราชดำริว่าเรือหลวงกับเรือราษฎรควรมีเครื่องหมายให้เห็นแตกต่างกัน จึงมีพระบรมราชโองการให้ทำรูป "จักร" สีขาวติดไว้กลางธงสีแดงเป็นเครื่องหมายใช้เฉพาะเรือหลวง ส่วนเรือค้าขายของราษฎรทั่วไปนั้น ยังคงใช้สีแดงเกลี้ยงอยู่ 




         ขึ้นรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พ.ศ. ๒๓๖๐ - ๒๓๖๖ (รัชกาลที่ ๒) ประเทศอังกฤษได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าขายอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และพระองค์ท่านทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือกำปั่นของหลวงขึ้น ๒ ลำเพื่อล่องค้าขายระหว่างสิงคโปร์และมาเก๊า โดยที่เรือหลวงทั้งสองลำดังกล่าวจะชักธงแดงตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยอยุธยา กระทั่งวันหนึ่งประเทศอังกฤษซึ่งเป็นเจ้าเมืองสิงคโปร์ได้บอกกับนายเรือหลวงของสยามให้มากราบบังคับทูลพระเจ้ากรุงสยามว่า ..."เรือเดินทะเลชาวมลายูที่ค้าขายกับสิงคโปร์ก็ชักธงแดงเหมือนกัน เพราะฉะนั้นจึงขอให้พระเจ้ากรุงสยามใช้ธงอย่างอื่นเสีย เพื่อจะได้จัดการรับรองเรือหลวงได้สะดวกและไม่สับสน"... และที่สำคัญในช่วงรัชกาลที่ ๒ นี้ พระองค์ทรงได้ช้างเผือกเอกมาสู่พระบารมีถึง ๓ ช้าง คือ พระเศวตกุญชร พระยาเศวตไอยรา และพระยาเศวตคชลักษณ์ ซึ่งถือเป็นพระเกียรติยศอย่างสูง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำรูปช้างสีขาวยืนพื้นอยู่ในวงจักรสีขาวติดไว้กลางธงแดงอันมีความหมายว่า “พระเจ้าแผ่นดินผู้มีช้างเผือก” และธงรูปช้างเผือกสีขาวอยู่ในวงจักรสีขาวนี้ก็ใช้เฉพาะเรือหลวงเท่านั้น ส่วนเรือพ่อค้าไทยทั่วไปก็ยังคงใช้ธงแดงอยู่ตามเดิม โดยใช้ธงสยามแบบนี้จนถึงรัชกาลที่ ๓ 




       ครั้นขึ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) สยามได้มีการทำหนังสือสัญญาเปิดการค้าขายกับชาวตะวันตกมากขึ้น ทำให้มีเรือสินค้าของประเทศต่างๆ ทั้งจากยุโรปและอเมริกาล่องเข้ามาค้าขายมากขึ้น พร้อมทั้งมีสถานกงสุลตั้งอยู่ในพระนคร ซึ่งชักธงชาติของประเทศตนเองขึ้นเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นที่ประเทศสยามจะต้องมีธงชาติที่แน่นอน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชดำริว่าธงสีแดงซึ่งเป็นธงที่ใช้กับเรือของสามัญชนชาวสยามนั้น ซ้ำกับประเทศอื่น ยากต่อการแยกแยะ สมควรยกเลิกเสีย และหันมาใช้ธงอย่างเรือหลวงเป็นธงชาติสยามสำหรับเรือสามัญชนด้วย แต่โปรดเกล้าให้เอารูปวงจักรสีขาวออกเสีย เพราะเป็นของสูงซึ่งถือเป็นเครื่องหมายเฉพาะของพระเจ้าแผ่นดินเท่านั้น โดยให้คงไว้แต่รูปช้างเผือกอยู่กลางธงแดง แต่ทว่าให้ปรับขนาดช้างเผือกให้ใหญ่ขึ้น โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย 

(หมายเหตุ : จากหลักฐานล่าสุดที่พิพิธภัณฑ์ธงชาติไทยได้ค้นคว้าจนค้นพบเรื่องการใช้ธงช้างเผือกเป็นธงชาติสยาม ได้พบว่ามีหนังสือหลายเล่มของต่างประเทศ ได้พิมพ์ธงช้างเผือก ในฐานะธงชาติสยามมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แล้ว ... โปรดศึกษาหลักฐานจากหน้าเฉพาะเรื่อง)



โดยในช่วงแรกเป็นแบบช้างเผือกยืนพื้น ต่อมาปรับรูปช้างเป็นแบบช้างเผือกปล่อย 





      ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ก็ได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยแบบอย่างธงสยามเป็นครั้งแรก ตรงกับรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๐ ต่อมาคือพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๖ และพระราชบัญญัติธงสยาม รัตนโกสินทร์ศก ๑๑๘ โดยทุกฉบับได้ยืนยันถึงลักษณะของธงชาติสยามเป็นแบบธงพื้นสีแดงตรงกลางเป็นรูปช้างเผือกสีขาวปล่อยหันหน้าเข้าหาเสา 




ภายหลัง
          พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ได้ทรงพระราชดำริว่า เมื่อมองธงชาติซึ่งใช้อยู่ในขณะนั้นแต่ไกล จะมีลักษณะไม่ต่างจากธงราชการเท่าไร และรูปช้างที่อยู่กลางธงก็ไม่งดงาม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศเพิ่มเติมและแก้ไขพระราชบัญญัติธงรัตนโกสินทรศก ๑๒๙ ตามมาตรา ๔ ข้อ ๑๕ โดยแก้ไขลักษณะธงชาติเป็นดังนี้ (คลิกที่นี่!!!)"ให้แก้ธงชาติเปนพื้นสีแดง กลางเปนรูปช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา สำหรับเปนธงราชการ" ประกาศมา ณ วันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พระพุทธศักราช ๒๔๕๙ ซึ่งถือเป็นธงช้างรูปสุดท้ายของธงในสมัยรัตนโกสินทร์ 





       และช่วงท้ายในปีพ.ศ. ๒๔๕๙ ก็ได้มีการยกเลิกการใช้ธงชาติแบบช้างเผือกทรงเครื่อง ยืนแท่น หน้าหันเข้าเสา เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสี เพราะทรงเห็นความลำบากของราษฎรที่ต้องสั่งซื้อธงช้างมาจากต่างประเทศ และบางครั้งเมื่อเกิดความสะเพร่าติดธงผิด รูปช้างกลับเอาขาชี้ขึ้นเป็นที่น่าละอาย (สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ พระองค์ท่านได้เสด็จประพาสวัดเขาสะแกกรังและได้ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านประดับธงช้างเผือกกลับหัว (หมายเหตุ: เหตุการณ์นี้เกิดก่อนพระราชบัญญัติธงฉบับธงช้างเผือกทรงเครื่องที่ปรากฏอยู่ในราชกิจจานุเบกษา วันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ดังนั้นย่อมต้องเป็นธงช้างเผือกปล่อยบนพื้นแดงแบบสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างแน่นอน)) ซึ่งหากเปลี่ยนเป็นธงแถบสีแล้ว ราษฎรก็สามารถทำธงใช้ได้เอง และจะช่วยขจัดปัญหาการติดผิดพลาด โดยก่อนออกพระราชบัญญัติฉบับใหม่ ได้ทรงทดลองใช้ธงชาติไทยแบบริ้วขาวแดงห้าริ้วติดอยู่ที่สนามเสือป่าในช่วงระยะหนึ่ง 




       แต่เนื่องจากธงแดงขาวห้าริ้ว เมื่อดูแล้วไม่สง่างาม จึงมีการปรับเปลี่ยนแถบตรงกลางซึ่งเป็นสีแดงให้เป็นสีน้ำเงินขาบ การเพิ่มสีน้ำเงินนี้ปรากฏอยู่ในพระราชหัตถเลขาในบันทึกส่วนพระองค์ วันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๔๖๐ ว่าได้ทอดพระเนตรบทความแสดงความเห็นของผู้ใช้นามแฝงว่า "อะแคว์ริส" ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ เดลิเมล์ ภาษาอังกฤษ ฉบับวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทรงแปลข้อความนั้นลงในบันทึกด้วย มีความโดยย่อว่า ... 


    " เพื่อนชาวต่างประเทศของผู้เขียน (อะแคว์ริส) ได้ปรารภถึงธงชาติแบบใหม่ว่า ยังมีลักษณะไม่สง่างามเพียงพอ ผู้เขียนก็มีความเห็นคล้อยตามเช่นนั้น และเสนอแนะด้วยว่า ริ้วตรงกลางควรจะเป็นสีน้ำเงินซึ่งเป็นสีส่วนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งถ้าเปลี่ยนตามนี้แล้ว ธงชาติไทยก็จะประกอบด้วยสีแดง ขาว น้ำเงิน มีสีเหมือนกับธงสามสีของฝรั่งเศส ธงยูเนียนแจ็คของอังกฤษ และธงดาวของสหรัฐอเมริกา ประเทศพันธมิตรทั้งสามประเทศ คงเพิ่มความพอใจในประเทศไทยยิ่งขึ้น เพราะเสมือนยกย่องเขา ทั้งการที่มีสีของพระมหากษัตริย์ในธงชาติ ก็จะเป็นเครื่องเตือนให้ระลึกถึงพระองค์ในวาระที่ประเทศไทยได้เข้าสู่เหตุการณ์สำคัญต่างๆ ด้วย... " 


      พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ เมื่อทรงทดลองวาดภาพธงสามสีลงในบันทึก ทรงเห็นว่างดงามดีกว่าริ้วขาวแดงที่ใช้อยู่ ต่อมาเมื่อเจ้าพระยารามราฆพ (ขณะนั้นยังเป็นพระยาประสิทธิศุภการ) ไปเฝ้าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ได้นำแบบธงไปถวายเพื่อทูลขอความเห็น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถก็ทรงเห็นชอบ และรับสั่งว่าถ้าเปลี่ยนในขณะนั้นจะได้เป็นอนุสรณ์ในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดให้พระยาศรีภูริปรีชา ร่างประกาศแก้แบบธงชาติสยาม และได้ทรงนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะเสนาบดีเพื่อฟังความเห็น ที่ประชุมลงมติเห็นชอบธงสามสีตามแบบที่คิดขึ้นใหม่ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้นเรียกว่า พระราชบัญญัติธง พระพุทธศักราช ๒๔๖๐ ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๖๐ มีผลบังคับใช้ภายหลังวันออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน ซึ่งต่อมาธงสยามแบบล่าสุดนี้ถูกเรียกว่า "ธงไตรรงค์" 






         สรุปภาพการเปลี่ยนแปลงธงชาติไทยยุคต่างๆดังนี้







ความหมายของธงชาติ


       เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเป็นชาติของประเทศชาติต่างๆ ที่ยอมรับกันโดยทั่วไป ซึ่งแต่ละประเทศ ธงชาติจะมีสีที่แตกต่างกันละคล้ายคลึงกันบ้าง (ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน นิยามคำว่า ธงชาติ ไว้ว่า ธงชาติ น. ธงที่มีความหมายถึงประเทศและชาติใดชาติหนึ่ง


"ธงไตรรงค์ ธงชาติไทย"

       เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยหรือชาติไทยที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ และศักดิ์ศรีในความเป็นไทย ซึ่งมีความหมายแสดงความเป็นเอกราชอธิปไตยของชาติ รวมทั้งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ธงชาติจึงมีความศักดิ์สิทธิ์ต้องได้รับความเคารพอย่างสูง และยังมีความสำคัญทางจิตใจที่แสดงถึงความรักชาติ ความรู้สึกที่มีร่วมกันของคนในชาติ นอกจากนั้นยังเป็นเสมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ไม่อาจลบหลู่ และสามารถเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติ เพื่อจะได้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นปึกแผ่นของประเทศไทยให้ยั่งยืนตลอดไปชั่วกาลนาน





วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การเสียดินแดน

การเสียดินแดน14ครั้ง




ครั้งที่ 1 เกาะหมาก(ปีนัง) 


        
"เสียครั้งแรกเกาะหมากจากแผนผัง 
เขาเปลี่ยนเป็นปีนังจำได้ไหม
นั่นแหละจากขวานทองเล่มของไทย 
หนึ่งร้อยกว่าตารางไมล์หลักฐานมี  "


          เสียให้กับประเทศอังกฤษ เมื่อ 11 สิงหาคม 2329 พื้นที่ 375 ตร.กม. ในสมัย ร.1 เกิดจาก พระยาไทรบุรี ให้อังกฤษเช่าเกาะหมากเพื่อหวังจะขอให้อังกฤษคุ้มครองเกาะหมากจากกองทัพ ของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ซึ่งยกทัพมาจัดระเบียบหัวเมืองปักษ์ใต้ ในที่สุดอังกฤษก็ยึดเอาไป


ครั้งที่ 2 มะริด ทวาย ตะนาวศรี



"ครั้งที่สองเสียซ้ำยังจำได้ 
เสียมะริดและทวายตะนาวศรี 
ปีสองพันสามร้อยยี่สิบหกโชคไม่ดี 
เสียเนื้อที่กว่าสองหมื่นตารางไมล์ "





         
       ครั้งที่ 2 มะริด ทวาย ตะนาวศรี ให้กับพม่า เมื่อ 16 มกราคม 2336 พื้นที่ 55,000 ตร.กม. ในสมัย ร.1 แต่เดิมเป็นของไทยครั้งสมัยสุโขทัย มังสัจจา เจ้าเมืองทวายเป็นไส้ศึกให้พม่า รัชกาลที่ 1 ไม่สามารถตีคืนจากพม่าได้ ประกอบกับชาวเมืองทวายไม่พอใจกองทัพไทยที่เข้ายึดครอง จึงตกเป็นของพม่าไป



ครั้งที่ 3 บันทายมาศ(ฮาเตียน)



"ครั้งที่สามบันทายมาศถูกตัดเฉือน
แล้วเปลี่ยนเป็นฮาเตียนตั้งชื่อใหม่
ปีสองพันสามร้อยหกสิบสามแสนช้ำใจ
เสียเนื้อที่เท่าไรไม่ปรากฎใน
บทความ "


        ครั้งที่ 3 บันทายมาศ(ฮาเตียน) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ พ.ศ.2336 ในสมัยรัชกาลที่ 2



ครั้งที่ 4 แสนหวี เมืองพง เชียงตุง



"ครั้งที่สี่เจ็บแค้นเสียแสนหวี
กินเนื้อที่ถึงเชียงตุงเหนือกรุงสยาม
ตั้งหกหมื่นตารางกิโลโถมันทำ
ใครสร้างกรรมเดี๋ยวนี้เห็นดีกัน"





 
      

            ครั้งที่ 4 แสนหวี เมืองพง เชียงตุง ให้กับพม่าเมื่อ พ.ศ.2368 พื้นที่ 62,000 ตร.กม.ในสมัย รัชกาลที่ 3    แต่เดิมเราได้ดินแดนนี้มาในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยพระเจ้ากาวิละ ยกทัพไปตีมาขึ้นอยู่กับไทยได้ 20 ปี เนื่องจากเป็นดินแดนที่อยู่ห่างไกลประกอบกับเกิดกบฏเจ้าอนุเวียงจันทร์และ เกิดกบฏทางหัวเมืองปักษ์ใต้(กลันตัน ไทรบุรี) ไทยจึงห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่มีกำลังใจจะยึดครอง หลังจากนั้นพม่าเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ เชียงตุงก็เป็นของอังกฤษโดยสิ้นเชิง



ครั้งที่ 5 รัฐเปรัค



"ครั้งที่ห้ามาเสียรัฐเปรัค
เขาหาญหักผลักล้มเชือดคมขวาน
ปีสองพันสามร้อยหกสิบเก้าแสนร้าวราน
ต่างหยิบขวานขึ้นถือกู้ชื่อไทย "
      



         ครั้งที่ 5 รัฐเปรัค ให้กับอังกฤษเมื่อ พ.ศ.2369 ในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นการสูญเสียที่ทำร้ายจิตใจ คนไทยทั้งชาติ เพราะเป็นการสูญที่ห่างจากครั้งก่อนไม่ถึง 1 ปี


ครั้งที่ 6 สิบสองปันนา 



"ครั้งที่หกอกตรมเดินก้มหน้า
เสียสิบสองพันนาน้ำตาไหล
ตั้งเก้าหมื่นกิโลโถทำได้
แทบขาดใจต่อสู้ศัตรูมา"
       






        ครั้งที่ 6 สิบสองปันนา ให้กับจีนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2397 พื้นที่ 90,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นดินแดนในยูนานตอนใต้ของประเทศจีน เมืองเชียงรุ้งเป็นเมืองหลวงของไทยสมัยรัชกาลที่ 1 ต่อมาเกิดการแย่งชิงราชสมบัติกันเอง แสนหวีฟ้า มหาอุปราชหนีลงมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้เกณฑ์ทัพเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ไปตีเมืองเชียงตุง (ต้องตีเมืองเชียงตุงให้ได้ก่อนจึงจะได้เชียงรุ้ง) แต่ไม่สำเร็จเพราะไม่พร้อมเพรียงกัน  มาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ให้กรมหลวงลวษาธิราชสนิท (ต้นตระกูลสนิทวงศ์) ยกทัพไปตีเชียงตุงเป็นครั้งที่ 2 แต่ไม่สำเร็จจึงต้องเสียให้จีนไป



ครั้งที่ 7 เขมรและเกาะ 6 เกาะ



"ครั้งที่เจ็ดเสียดินแดนแคว้นเขมร 
เกิดพิเรนเพราะฝรั่งกำลังบ้า 
เที่ยวออกล่าเมืองขึ้นชื่นอุรา 
เสียอีกหนึ่งแสนกว่าตารางกิโล"




        ครั้งที่ 7 เขมรและเกาะ 6 เกาะ ให้กับฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2410 พื้นที่ 124,000 ตร.กม. ในสมัย ร.4 ฝรั่งเศส บังคับให้เขมรทำสัญญารับความคุ้มครองจากฝรั่งเศส หลังจากนั้นได้ดำเนินการทางการฑูตกับไทย ขอให้มีการปักปันเขตแดนเขมรกับญวน แต่กลับตกลงกันไม่ได้ ขณะนั้นพระปิ่นเกล้า แม่ทัพเรือสวรรคต ไทยจึงอ่อนแอ ฝรั่งเศสจึงฉวยโอกาสบังคับทำสัญญารับรองความอารักขาจากฝรั่งเศสต่อเขมร ในช่วงนี้เอง อังกฤษกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญากันเมื่อ 15 มกราคม 2438 โดยตกลงกันให้ไทยเป็นรัฐกันชน ประกอบกับ การดำเนินนโยบายของ ร.5 ที่ไปประพาสยุโรปถึง 2 ครั้ง ทำให้อังกฤษ เยอรมัน รัสเซียเห็นใจไทย ฝรังเศสจึงยึดดินแดนไป



ครั้งที่ 8 สิบสองจุไทย 




"ครั้งที่แปดเสียแคว้นดินแดนใหม่
ชื่อสิบสองจุไทยก็ใหญ่โข
เป็นเนื้อที่อีกแปดหมื่นตารางกิโล
ต้องร้องโฮใจระเ่ยเพราะเสียดาย"

 
 

      
        ครั้งที่ 8 สิบสองจุไทย (เมืองไล เมืองเชียงค้อ) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ  22 ธันวาคม 2431 พื้นที่ 87,000 ตร.กม. ในสมัย รัชกาลที่ 5 พวกฮ่อ ก่อกบฏ ไทยจัดกำลังไปปราบ 2 กองทัพ แต่ปฏิบัติเป็นอิสระแก่กัน อีกทั้งแม่ทัพทั้งสองไม่ถูกกัน จึงเป็นโอกาสให้ฝรั่งเศสส่งทหารเข้าเมืองไล โดยอ้างว่า มาช่วยไทยปราบฮ่อ แต่หลังจากปราบได้แล้ว ก็ไม่ยอมยกทัพกลับ อีกทั้งไทยก็ไม่ได้จัดกำลังไว้ยึดครองอีกด้วย จนในที่สุด ไทยกับฝรั่งเศสได้ทำสัญญากันที่เมืองแถง(เบียนฟู) ยอมให้ฝรั่งเศสรักษาเมืองไลและเมืองเชียงค้อ


ครั้งที่ 9 ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน


"ครั้งที่เก้าเศร้าแสนแค้นไม่สิ้น
เสียลุ่มน้ำสาละวินด้านฝั่งซ้าย
สิบสามหัวเมืองต้องจำเหมาให้เขาไป
ใครที่ทำช้ำใจไทยต้องจำ "


 



         ครั้งที่ 9 ฝั่งซ้ายแม่น้ำสาละวิน ให้กับประเทศอังกฤษในสมัย รัชกาลที่ 5 ในห้วงปี 2433 เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ทางด้านรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจและทรัพยากร อันอุดมด้วยดินแดนผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ยิ่ง



ครั้งที่ 10 ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง 


"ครั้งที่สิบเลียบลำแม่น้ำโขง
ถูกเขาโกงฝั่งซ้ายเพราะไทยถลำ"

 






        ครั้งที่ 10 ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อาณาจักรล้านช้าง หรือประเทศลาว) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ 3 ตุลาคม 2436 พื้นที่ 143,000 ตร.กม. ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นของไทยมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนเรศวร ต้องเสียให้กับฝรั่งเศสตามสัญญาไทยกับฝรั่งเศส เท่านั้นยังไม่พอ ฝรั่งเศสเรียกเงินจากไทย 1 ล้านบาท เป็นค่าเสียหายที่ต้องรบกับไทย เสียค่าประกันว่าไทยต้องปฏิบัติตามสัญญาอีก 3 ล้านบาท และยังไม่พอฝรั่งเศสได้ส่งทหารมายึดเมืองจันทบุรีและตราด ไว้ถึง 15 ปี นับว่าเป็นความเจ็บปวดที่สุดของไทยถึงขนาดที่เจ้านายฝ่ายในต้องขายเครื่อง แต่งกายเพื่อนำเงินมาถวาย ร.5  เป็นค่าปรับ ร.5 ต้องนำถุงแดง(เงินพระคลังข้างที่) ออกมาใช้

ครั้งที่ 11 ฝั่งขวาแม่น้ำโขง



"ครั้งที่สิบเอ็ดเสียฝั่งขวานั่งหน้าดำ
มันเจ็บช้ำฝังจำอยู่กลางใจ"






          

        ครั้งที่ 11 ฝั่งขวาแม่น้ำโขง(ตรงข้ามเมืองหลวงพระบาง ดินแดนในทิศตะวันออกของน่าน,จำปาศักดิ์   ,มโนไพร)ให้กับฝรั่งเศสเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2446 พื้นที่ 25,500 ตร.กม. ในสมัย.ร.5ไทยทำสัญญากับฝรั่งเศสเพื่อขอให้ฝรั่งเศสคืนจันทบุรีให้ไทย แต่ฝรั่งเศสถอนไปแต่จันทบุรีแล้วไปยึดเมืองตราดแทนอีก 5 ปี แล้วเมื่อฝรั่งเศสได้หลวงพระบางแล้วยังลุกล้ำบ้านนาดี,ด่านซ้าย จ.เลย และยังได้เอาศิลาจารึกที่พระเจดีย์ศรีสองรักษ์ไปด้วย


ครั้งที่ 12 มลฑลบูรพา



"ครั้งที่สิบสองใจรันทดเพราะหมดท่า
เสียมณฑลบูรพาอีกจนได้
เขามาพรากจากแหลมทองถิ่นของไทย
อีกสองหมื่นตารางไมล์โดยประมาณ "
     
          ครั้งที่ 12 มลฑลบูรพา(พระตะบอง,เสียมราฐ,ศรีโสภณ) ให้กับฝรั่งเศส เมื่อ 23 2449 พื้นที่ 51,000 ตร.กม. ในสมัย ร.5 ไทยได้ทำสัญญากับฝรังเศส เพื่อแลกกับ ตราด,เกาะกง,ด่านซ้าย ตลอดจนอำนาจศาลไทยที่จะบังคับต่อคนในบังคับของฝรั่งเศสในประเทศไทย เพราะขณะนั้นมีคนจีนญวนไปพึ่งธงฝรั่งเศสกันมากเพื่อสิทธิการค้าขาย ฝรั่งเศสก็เพียงแต่ถอนทหารออกจากตราดเมื่อ 6 กรกฎาคม 2450 กับด่านซ้าย คงเหลือแต่เกาะกงไม่คืนให้ไทย

ครั้งที่ 13 หัวเมืองมลายู 



"ครั้งที่สิบสามเสียตรังกานูไทรบุรี
ในแผนที่มองเห็นเป็นหลักฐาน
ไปถึงปะลิสติดรัฐกลันตัน
อีกสามหมื่นโดยประมาณตารางไมล์"





          ครั้งที่ 13 ในสมัยรัชกาลที่ เสียหัวเมืองมลายู
(รัฐกลันตัน ตรังกานู ปะลิส และไทรบุรี) เมื่อ พ.ศ. 2451 ให้กับอังกฤษ
จำนวนพื้นที่ 80,000 ตารางกิโลเมตร
เพื่อแลกกับอังกฤษยกเลิกสิทธิภาพนอกอาณาเขต
และให้ไทยกู้เงินเพื่อสร้างทางรถไฟสายใต้
 ปัจจุบันเป็นของมาเลเซีย

ครั้งที่ 14 เขาพระวิหาร



"ครั้งที่สิบสี่เสียเขาพระวิหาร
ปัจจุบันเป็นของเขมรท่านเห็นไหม"







          ครั้งที่ 14 เขาพระวิหาร ให้กับเขมรเมื่อ 15 มิถุนายน 2505 พื้นที่ 2 ตร.กม. ในสมัย ร.9 ตามคำพิพากษาของศาลโลก ให้เขาพระวิหารตกเป็นของเขมร เนื่องมาจากหลักฐานสำคัญของเขมร   ในสมัยที่เป็นของฝรั่งเศส เมื่อรู้ว่ากรมพระยาดำรงราชานุภาพจะเสด็จเขาพระวิหาร จึงไปก่อนแล้วชักธงชาติฝรั่งเศสรับเสด็จ แล้วจึงถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐาน จึงนำมาใช้เป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงต่อศาลโลก



 รวมพื้นที่ที่เสียไป 782,877 ตร.กม. 
จากพื้นที่ 1,294,992 ตร.กม. ในอดีต ปัจจุบันเรามีพื้นที่ให้เหยียบกันอยู่เพียง 512,115 ตร.กม.เหลือน้อยกว่าที่เราเสียไปซะอีก

วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557


รัฐประหาร
22 พฤษภาคม 2557



รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และความเชื่อว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลในการเมืองไทย
ในวันที่ 20 พฤษภาคม ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้
หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว
หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

เบื้องหลัง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงใน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์ แต่การประท้วงยังดำเนินต่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองใน พ.ศ. 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร ประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า ประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"


22 พฤษภาคม 2557

ทหารบกมีส่วนสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งนี้

  • 16:30 น. - ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที รวมถึงให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) หมดอำนาจ แต่คำสั่งต่าง ๆ ยังมีผลต่อเนื่องอยู่14:00 น. - ประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 ตามประกาศกอ.รส. ฉบับที่ 8/2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พลเอก ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไปสองชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ กับจตุพร พรหมพันธุ์แยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน ประยุทธ์ก็ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน เมื่อกลับมาหารือกันต่อ ประยุทธ์ได้สอบถาม ชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งชัยเกษม ระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย ประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครอง และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 17:00 น. - เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณถนนอุทยาน
  • 17:30 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเข้าคุมพื้นที่ถนนอุทยานสำเร็จ และสั่งให้กลุ่ม นปช. ยุติความเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีคำสั่ง สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ของตน และให้อยู่ในอำนาจตามที่กำหนด
  • 18:00 น. - คสช. ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรอีกครั้ง
  • 18:20 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 3 ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. - 5.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผลแห่งประกาศนี้ทำให้สถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วประเทศประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป รวมถึงระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ก็ประกาศปิดทำการก่อนเวลาเช่นกัน กล่าวคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. สำหรับสายซิตี้ไลน์จะออกในเวลา 21.02 น. และสำหรับสายเอ็กซ์เพรสไลน์ จะออกจากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเที่ยวสุดท้ายในเวลา 21.00 น.
  • 18:30 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 4 บังคับให้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมทุกสถานี งดออกอากาศรายการตามปกติ และให้ใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงผลแห่งประกาศนี้ทำให้ ทรูวิชันส์ จีเอ็มเอ็มแซต และซีทีเอช ที่เป็นบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปบนช่องรายการทุกช่องโดยไม่ว่าจะเป็นช่องรายการในประเทศหรือนอกประเทศจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
  • 19:00 น. - คสช. ออกประกาศให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนาตามเดิม โดยทางกองทัพบกได้จัดขบวนรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเพื่ออำนวยความสะดวก และได้ออกคำสั่งให้ทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ช่วยจัดการบริหารให้ประชาชนเดินทางกลับ
  • 19:10 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ส่วนวุฒิสภา ศาล และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญยังปฏิบัติหน้าต่อไป
  • 19:19 น. -คสช. ออกประกาศฉบับที่ 6
  • 19:42 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7
  • 20:55 น. - คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 8 โดยให้ยกเว้นข้อห้ามการออกจากเคหสถานยามค่ำคืนให้กับบางบุคคล
  • 21:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1 โดยให้อดีตรัฐมนตรี 18 คนเข้ารายงานตัว
  • 21:06 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 9
  • 23:54 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 10
  • 23:57 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 11 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์