วันอังคารที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2557

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557


รัฐประหาร
22 พฤษภาคม 2557



รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เวลา 16:30 น. โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อันมีประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะ โค่นรัฐบาลรักษาการนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล นับเป็นรัฐประหารครั้งที่ 13 ในประวัติศาสตร์ไทย ก่อนหน้านี้ เกิดรัฐประหารใน พ.ศ. 2549 รัฐประหารดังกล่าวเกิดขึ้นหลังวิกฤตการณ์การเมืองซึ่งเริ่มเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2556 เพื่อคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ และความเชื่อว่า ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีอิทธิพลในการเมืองไทย
ในวันที่ 20 พฤษภาคม ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่เวลา 3.00 น. กองทัพบกตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) และให้ยกเลิกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กอ.รส. ปิดสื่อ ตรวจพิจารณาเนื้อหาบนอินเทอร์เน็ต และจัดประชุมเพื่อหาทางออกวิกฤตการณ์การเมืองของประเทศ แต่การประชุมไม่เป็นผล จึงเป็นข้ออ้างรัฐประหารครั้งนี้
หลังรัฐประหาร มีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 คณะรัฐมนตรีรักษาการหมดอำนาจ ตลอดจนให้ยุบวุฒิสภา ปัจจุบัน คณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ และประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้ใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี คสช. มีการจัดส่วนงานต่าง ๆ เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน และระบุว่าจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่มีคำมั่นว่าประเทศจะหวนกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนโดยเร็ว
หลายประเทศประณามรัฐประหารครั้งนี้ รวมทั้งมีการกดดันต่าง ๆ เช่น ลดกิจกรรมทางทหารและลดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนหนึ่งแสดงความยินดี โดยมองว่าเป็นทางออกของวิกฤตการณ์การเมือง แต่ก็มีคนไทยอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากไม่เป็นไปตามวิถีประชาธิปไตย

เบื้องหลัง
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่โดยมียิ่งลักษณ์เป็นนายกรัฐมนตรี มีการประท้วงต่อต้านรัฐบาล นำโดย สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2556 ภายหลัง สุเทพตั้งคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง "สภาประชาชน" ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเพื่อดูแลการปฏิรูปการเมือง กลุ่มนิยมรัฐบาล รวมทั้ง แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมเช่นกัน มีความรุนแรงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2556 ยิ่งลักษณ์ยุบสภาผู้แทนราษฎรและกำหนดการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไปในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งไม่เสร็จสมบูรณ์ในวันนั้นเพราะถูกผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลขัดขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเพิกถอนการเลือกตั้งในวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2557 ในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเป็นเอกฉันท์ให้ยิ่งลักษณ์และรัฐมนตรีที่มีมติย้ายข้าราชการระดับสูงซึ่งเป็นที่โต้เถียงใน พ.ศ. 2554 รัฐมนตรีที่เหลืออยู่เลือกนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาการนายกรัฐมนตรีแทนยิ่งลักษณ์ แต่การประท้วงยังดำเนินต่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เปิดเผยว่า ตนพูดคุยกับประยุทธ์ จันทร์โอชาให้ถอนรากถอนโคนอิทธิพลของทักษิณและพันธมิตรนับแต่การชุมนุมทางการเมืองใน พ.ศ. 2553 เขากล่าวว่า ได้ติดต่อเป็นประจำผ่านแอพไลน์ ก่อนรัฐประหาร ประยุทธ์ติดต่อเขาว่า "คุณสุเทพ คุณกับมวลมหาประชาชน กปปส.เหนื่อยเกินไปแล้ว ต่อไป ขอเป็นหน้าที่กองทัพบกที่จะทำภารกิจนี้แทน" และกองทัพได้รับข้อเสนอของ กปปส. หลายอย่าง เช่น มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ด้านโฆษก คสช. ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว แหล่งข่าวว่า ประยุทธ์ "อารมณ์เสียมาก"


22 พฤษภาคม 2557

ทหารบกมีส่วนสำคัญในการก่อรัฐประหารครั้งนี้

  • 16:30 น. - ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศตั้ง "คณะรักษาความสงบแห่งชาติ" (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการทันที รวมถึงให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย(กอ.รส.) หมดอำนาจ แต่คำสั่งต่าง ๆ ยังมีผลต่อเนื่องอยู่14:00 น. - ประชุมร่วม 7 ฝ่าย เพื่อหาทางออกของประเทศครั้งที่ 2 ตามประกาศกอ.รส. ฉบับที่ 8/2557 โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในที่ประชุม ระหว่างการประชุม พลเอก ประยุทธ์ เปิดโอกาสให้แต่ละฝ่ายได้เสนอแนวทางที่เห็นว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของประเทศ หลังจากเวลาผ่านไปสองชั่วโมงก็ไม่มีข้อยุติ ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ กับจตุพร พรหมพันธุ์แยกไปหารือเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกัน ประยุทธ์ก็ได้หารือกับผู้บัญชาการเหล่าทัพไปพร้อม ๆ กัน เมื่อกลับมาหารือกันต่อ ประยุทธ์ได้สอบถาม ชัยเกษม นิติสิริ ในฐานะหัวหน้าตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ว่ารัฐบาลยืนยันไม่ลาออก ทั้งรายบุคคลและทั้งคณะใช่หรือไม่ ซึ่งชัยเกษม ระบุว่า นาทีนี้ไม่ลาออก และต้องการดำเนินการต่อจนกว่าจะครบวาระตามกฎหมาย ประยุทธ์จึงตอบกลับว่าจะยึดอำนาจการปกครอง และสั่งจับกุมสมาชิกคณะรัฐมนตรี ตลอดจนแกนนำ กปปส., นปช. และพรรคการเมืองที่เข้าร่วมเจรจา ทั้งหมดถูกนำไปกักขัง ที่กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์
  • 17:00 น. - เกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่ม นปช. กับเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณถนนอุทยาน
  • 17:30 น. - เจ้าหน้าที่ทหารเข้าคุมพื้นที่ถนนอุทยานสำเร็จ และสั่งให้กลุ่ม นปช. ยุติความเคลื่อนไหวจนกว่าจะมีคำสั่ง สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำหน้าที่ของตน และให้อยู่ในอำนาจตามที่กำหนด
  • 18:00 น. - คสช. ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรอีกครั้ง
  • 18:20 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 3 ห้ามประชาชนออกจากเคหสถาน ตั้งแต่เวลา 22.00 น. - 5.00 น. ทั่วราชอาณาจักร เว้นแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ผลแห่งประกาศนี้ทำให้สถานที่สำคัญหลายแห่งทั่วประเทศประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป รวมถึงระบบขนส่งมวลชนต่าง ๆ ก็ประกาศปิดทำการก่อนเวลาเช่นกัน กล่าวคือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. และรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ประกาศปิดทำการตั้งแต่เวลา 21.00 น. สำหรับสายซิตี้ไลน์จะออกในเวลา 21.02 น. และสำหรับสายเอ็กซ์เพรสไลน์ จะออกจากสถานีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเที่ยวสุดท้ายในเวลา 21.00 น.
  • 18:30 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 4 บังคับให้สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และโทรทัศน์ดาวเทียมทุกสถานี งดออกอากาศรายการตามปกติ และให้ใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงผลแห่งประกาศนี้ทำให้ ทรูวิชันส์ จีเอ็มเอ็มแซต และซีทีเอช ที่เป็นบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก ต้องใช้สัญญาณของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกออกอากาศไปบนช่องรายการทุกช่องโดยไม่ว่าจะเป็นช่องรายการในประเทศหรือนอกประเทศจนกว่าจะได้รับคำสั่งเปลี่ยนแปลงเช่นกัน
  • 19:00 น. - คสช. ออกประกาศให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมกลับสู่ภูมิลำเนาตามเดิม โดยทางกองทัพบกได้จัดขบวนรถจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพเพื่ออำนวยความสะดวก และได้ออกคำสั่งให้ทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ช่วยจัดการบริหารให้ประชาชนเดินทางกลับ
  • 19:10 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 5 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลงชั่วคราว ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์ และให้คณะรัฐมนตรีรักษาการสิ้นสุดลง ส่วนวุฒิสภา ศาล และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญยังปฏิบัติหน้าต่อไป
  • 19:19 น. -คสช. ออกประกาศฉบับที่ 6
  • 19:42 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 7
  • 20:55 น. - คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 8 โดยให้ยกเว้นข้อห้ามการออกจากเคหสถานยามค่ำคืนให้กับบางบุคคล
  • 21:00 น. - คสช. ออกคำสั่งฉบับที่ 1 โดยให้อดีตรัฐมนตรี 18 คนเข้ารายงานตัว
  • 21:06 น. - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 9
  • 23:54 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 10
  • 23:57 น . - คสช. ออกประกาศฉบับที่ 11 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ยกเว้นหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น